กทม.- ปริมณฑล ค่าฝุ่นละอองยังเกินมาตรฐานต่อเนื่อง!
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM2.5 ประจำวันที่ 13 ม.ค. พบ กทม.-ปริมณฑล ค่าฝุ่นละอองยังเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ประจำวันที่ 13 มกราคม 2562 จากสภาพอุตุนิยมวิทยาอากาศในช่วงเช้ายังคงลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้ารวมถึงมีหมอกหนาหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ ‘เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
พื้นที่ริมถนน โดยสถานีวัดคุณภาพอากาศแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ 19 พื้นที่
พื้นที่ทั่วไป (ห่างจากริมถนนสายหลัก) โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ 17 พื้นที่
คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศในวันพรุ่งนี้จะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และจากโมเดลพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงของ วันที่ 13-14 มกราคม 2562 อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศค่อนข้างปิด
คพ. ได้ประสานงานกับ กทม. และ 5 จังหวัดปริมณฑล เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างต่อเนื่อง โดย กทม. ได้มีคำสั่งให้ทุกเขตดำเนินการกวาดล้างถนนอย่างเข้มงวดทุกวัน พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง ตรวจวัดควันดำ และรณรงค์ลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง
ทั้งนี้ คพ. ได้ประสานกับกรมฝนหลวงฯ ซึ่งได้มีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อพร้อมปฏิติการในวันที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการทำฝนเทียม และได้ประสานเพื่อบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. บก.จร. ขนส่ง กองทัพฯ กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: https://news.mthai.com/general-news/700334.html
การป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศภายนอก
1.อยู่ภายในอาคารให้มากที่สุดระหว่างวัน และหลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นเวลานาน
2.หากต้องออกไปข้างนอก ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน อาจออกแต่เช้าตรู่หรือรอหลังพระอาทิตย์ตก เนื่องจากแสงอาทิตย์จะส่งผลให้โอโซนระดับภาคพื้นดินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองและส่งผลเสียต่อสุขภาพ มีระดับสูงขึ้น
3.เมื่ออยู่ภายนอกอาคาร ควรหายใจช้า ๆ และอย่าทำกิจกรรมที่ส่งผลให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้ได้รับมลพิษทางอากาศมากขึ้น
4.ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัยชนิดมีตัวกรอง ซึ่งจะช่วยกรองสารหรืออนุภาคขนาดเล็กออกจากอากาศที่หายใจได้ในระดับหนึ่ง
5.ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมีปัญหาเกี่ยวกับปอดควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด